นอกจากเราใช้ยาให้ถูกวิธีแล้วนะครับ เราควรต้องรู้จักวิธีเก็บยาเพราะบางครั้งเราได้รับยามาจากโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากเราจึงควรจะต้องรู้วิธีเก็บยาเหล่านั้น
โดยทั่วไปเราทราบอยู่แล้วว่ายาจะต้องเก็บไว้ในที่ไม่ร้อน ไม่ชื้น ไม่มีแสง ยาบางตัวอาจจะต้องเก็บในตู้เย็นเก็บในอุณหภูมิตามที่ระบุไว้เพื่อให้ความคงตัวของยานั้นดีขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ
ในข้อถัดไปนะครับเราก็ควรจะทราบว่าระหว่างที่เราใช้ยาชนิดนี้แล้ว มีผลข้างเคียงอะไรบ้างที่จะเกิดจากการใช้ยา เพื่อที่เราจะได้ระมัดระวัง เช่น ถ้ารับประทานแล้วง่วงเราจะได้รู้ว่า อ่อ… เราไม่ควรขับรถเมื่อเราใช้ยาตัวนี้ หรือว่า เอ๊ะ! ยาบางชนิดทำให้เราอุจจาระเป็นสีดำ เราจะได้ไม่ตกใจว่าทำไมอยู่ๆ เรามีอุจจาระสีดำ
ในกรณีของยารักษาวัณโรคบางชนิดจะทำให้สารคัดหลั่งเป็นสีแดงหมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าจะทำให้ปัสสาวะของคุณมีสีแดง น้ำตาอาจเป็นสีแดง ฉี่ออกมาเป็นสีแดง ถ้าใครไม่รู้ตกใจตายเลยครับ ไม่รู้เป็นโรคอะไรขึ้นมา เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ถ้าผู้ป่วยไม่ทราบเนี่ยผู้ป่วยอาจจะตกใจ หรืออาจจะปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง
ถัดไปครับ เราคงต้องทราบว่าเราต้องใช้ยานานแค่ไหน เพราะยาบางประเภทเราสามารถหยุดใช้ยาทันทีเมื่อหายจากอาการ แต่ยาบางตัวต้องใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานตามที่แพทย์สั่งกำหนดหรือต้องใช้ยาตลอดชีวิต แล้วระหว่างการใช้ยาเราจะต้องมีการปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างเมื่อต้องใช้ยา
ยาบางตัวอาจจะสั่งว่าให้ดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอนที่ทางเดินปัสสาวะและไต เพราะยามันละลายน้ำไม่ดี เช่น ยาในกลุ่มซัลฟา เป็นต้น หรือยาบางตัวอาจจะบอกว่ารับประทานร่วมกับอาหารมันๆเช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ เพราะว่ายาบางตัวจะสามารถเพิ่มการดูดซึมได้จากอาหารประเภทไขมัน หรือยาบางตัวอาจบอกว่าระหว่างที่รับประทานยาตัวนี้แล้วให้รับประทานผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม เพราะยาเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมต่ำได้
หรือยาบางตัวอาจต้องหลีกเลี่ยงการตากแดดขณะใช้ยาบางชนิด เพราะในบางคนเมื่อใช้ยาบางชนิด เช่น ยาไซโปรฟล็อกซาซิน(Ciprofloxacin) ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide) หรือยาไอโซเตรติโนอิน(lsotretinoin) อาจเกิดภาวะแพ้แสง เป็นผื่นหรือผิวไหม้ได้
ยาบางชนิดมีข้อจำกัดของการใช้พอสมควร เช่น ต้องรับประทานยาพร้อมกับน้ำเปล่า 1 แก้วเต็มๆ ก่อนอาหารหรือเครื่องดื่มหรือยาชนิดอื่นๆ และหลังรับประทานต้องมีอิริยาบถที่มีลำตัวตั้งตรง ห้ามเอนลงนอนซึ่งเราสามารถที่จะนั่ง ยืน หรือเดินได้เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีหลังจากรับประทานยา และหลัง 30 นาทีท่านถึงสามารถที่จะรับประทาน ดื่ม หรือรับประทานยาใดๆได้เป็นปกติ ทั้งนี้มีเหตุผลเนื่องจากว่ายาชนิดนี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่หลอดอาหารสูงดังนั้นต้องให้มั่นใจว่ายานี้ได้ลงไปที่กระเพราะอาหารจริงๆ
เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่ไม่สามารถยืนหรือนั่งตัวตรงได้อย่างน้อย 30 นาที เช่นผู้ป่วยที่นอนอยู่ตลอดเวลาจึงไม่สามารถที่จะใช้ยาชนิดนี้ได้ ใครจะนึกว่ามีข้อปฏิบัติพิลึกคือหลังกินยาต้องทำตัวตรงเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง
เห็นไหมครับว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราควรจะต้องรู้ว่าเราต้องปฏิบัติตนอย่างไรในการใช้ยาแต่ละตัว
ข้อถัดไปครับ เราต้องดูด้วยว่ายานั้นจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาอื่นๆ หรือเปล่า หรือเรียกว่า “ยาตีกันหรือเปล่า” เพราะว่าหลายๆครั้งเวลาเราได้รับยามากกว่าสองชนิดขึ้นไปมันมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเหล่านี้ได้ ทำให้ไปเพิ่มฤทธิ์หรือลดฤทธิ์การรักษา หรือว่าอาจจะไปเพิ่มอาการข้างเคียงได้และอาจทำให้เกิดพิษในโรคบางโรค เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับการใช้ยาบางประเภท เพราะฉะนั้นเราต้องดูด้วยว่ายานี้จะไม่ตีกับโรค
ซึ่งผมยังไม่ได้ขยายความไว้อีกในครั้งหน้า “ยาตีกัน” ซึ่งนอกจากเรื่องอาหารการกินและเครื่องดื่มแล้ว พฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือการดื่มแอลกอฮอล์ก็อาจจะมีผลตีกันกับยาที่เรารับประทานได้เช่นกันเพราะฉะนั้นเรื่องนี้คงจะต้องถามเภสัชกรหรือปรึกษาแพทย์ให้เรียบร้อยว่าเรารับประทานยาอะไรอยู่ หรือว่าถ้าจะไปซื้อยาอะไรเพิ่มเติมมาใช้เองก็ต้องปรึกษาเภสัชกรก่อนนะครับ
คราวนี้เมื่อเรามาใช้ยาแล้ว มันก็ต้องรู้ครับว่าความผิดปกติที่เราเป็นอยู่เนี่ย ปกติแล้วธรรมชาติของมันนานไหมกว่าจะหาย? 3 วัน 5 วัน หรืออาทิตย์หนึ่ง อาการบางอย่างควรจะเริ่มดีขึ้นไหม? เพราะว่าอาจจะมีในกรณีที่ถ้าอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาไปสักพัก
นั้นเป็นคำถามอีกคำถามที่เราต้องรู้ระหว่างการใช้ยาว่า ถ้าเราได้รับยาไปแล้ว ถ้าโรคไม่ได้ทุเลาลง เลยหรือมีความผิดปกติอื่นเพิ่มมากขึ้น อาจจะเป็นเวลาที่เราต้องกลับไปพบแพทย์ครั้ง
หรือโรคบางอย่างที่ต้องใช้ยาตลอดชีวิต ใช้ยากันเป็นเดือนเป็นปี แต่ก็ต้องไปหาหมอทุก 3 เดือน 6 เดือน แล้วแต่จะนัด ซึ่งแพทย์อาจต้องติดตามว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นสามารถควบคุมดูแลโดยยาที่ให้ไปได้ไหม ถ้าไม่ได้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดหรือชนิดของยาหรืออาจจะต้องไปตรวจการทำงานของตับ การทำงานของไต ว่าทำงานโอเคไหม ได้รับผลกระทบจากการใช้ยาหรือมีอาการข้างเคียงบางอย่างเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งคุณหมออาจจะต้องพิจารณาการให้ยาใหม่เพราะฉะนั้นการกลับไปพบแพทย์หลังจากที่ใช้ยาไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ควรทำเหมือนกัน
ข้อสุดท้ายครับ เป็นเรื่องใกล้ตัวมากเพราะว่าหลายท่านหรือคนในครอบครัว อย่างเช่นญาติของผมเอง คุณป้าหรือคุณน้าเป็นคนที่กลัวที่จะใช้ยา กลัวว่ายาจะไปทำร้ายเขาหรือกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากยาไปหาหมอเสียดิบดี กลับมามียาแต่ก็ไม่ยอมใช้ เพราะกลัวว่ากินยาแล้วจะเป็นนู่นเป็นนี่ ซึ่งการเกิดความผิดปกติบางอย่างก็ต้องเข้าใจว่ามันมีความจำเป็นที่ต้องใช้ยา แต่ก็มีความผิดปกติบางอย่างเหมือนกันที่ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใช้ยา อาจจะดูแลบางอย่าง หรือมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย หรือการดูแลรักษาตัวด้วยวิธีต่างๆ เพื่อจะไม่ต้องใช้ยาในเบื้องต้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นผมอยากให้ปรึกษากับแพทย์ผู้รักษาไปเลยตรงๆ ว่าเราไม่อยากใช้ยา เป็นคนที่ไม่อยากใช้ยามากๆเลย เผื่อแพทย์อาจจะแนะนำว่า อ่ะ! ในเคสนี้เบื้องต้นอาจจะยังไม่ต้องใช้นะ ลองไปทำการปฏิบัติตัว หนึ่ง สอง สาม สี่ เช่น ลองไปคุมอาหารดูก่อน แล้วกลับมาคุยกันใหม่ว่าโอเคไหม? แต่ถ้าอาการไม่โอเค คุณหมออาจมีความจำเป็นที่จะต้องให้ยาช่วยในการรักษา
เพราะฉะนั้นผมอยากให้พูดคุยกับแพทย์ผู้รักษาโดยตรง ถ้าไม่คิดจะใช้ยา เพราะไม่เช่นนั้นแพทย์อาจจะเข้าใจว่า เอ๊! ทำไมโรคไม่ดีขึ้นสักที บางทีให้ยาไป มีการปรับขนาด เปลี่ยนยากันวุ่นวาย โดยที่ไม่ทราบว่าผู้ป่วยไม่เคยใช้ยาเลยก็มีนะครับ
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการใช้ยาเป็นเรื่องดูเหมือนยากนะครับต้องทำอะไรวุ่นวายไปหมดเลย แต่จริงๆ แล้วไม่ยากครับมันเป็นสิ่งที่เราควรพยายามทำเพื่อความปลอดภัย และให้เราได้รับประสิทธิภาพจากการใช้ยาได้มากที่สุด
เป็นคำถามง่ายๆ นะครับ ลองนึกดูก็ได้ว่าถ้าหากเราใช้ยาสักหนึ่งตัวแล้ว เราสามารถที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้า “ไม่” ลองกลับไปปรึกษาเภสัชกรดูก่อนนะครับเผื่อเขาจะได้อธิบายในประเด็นต่างๆให้เราเข้าใจ เราจะได้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยครับ
ตรวจรักษา-ดูแลตัวเองอย่างไรในวัยทอง
อาการของคนวัยทองมีมากมาย จึงควรได้รับการตรวจรักษาโดยแพ […]
การเก็บยา เมื่อเราได้รับยามาที่บ้าน
การเก็บยาไม่ว่าจะได้มาจากเภสัชกรจากร้านขายยาหรือหลังจาก […]
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นสำหรับเรื่องนี้.....