เวลาพูดถึงยาแก้อักเสบ เรามักจะนึกถึงยาที่มีลักษณะเป็นแคปซูลสีต่างๆ เช่นสีดำแดง สีเขียวฟ้า หรือสีขาวชมพู แล้วแต่ว่าจะเคยใช้ยาอะไรมาก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วผมมั่นใจว่าที่พวกเราคิดว่าเป็นยาแก้อักเสบ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ยาแก้อักเสบ แต่เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเสียส่วนใหญ่หรือที่เรียกว่าเป็น “ยาปฏิชีวนะ” หรือ “ยาต้านจุลชีพ” ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเรียกกันติดปากว่าเป็น “ยาแก้อักเสบ ”
อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังไว้ก่อนหน้านี้ ว่าอาการอักเสบเป็นอาการที่ประกอบไปด้วยอาการปวด บวม แดง และร้อน เป็นอาการที่เกิดจากปฏิกิริยาชีวเคมีของร่างกายเพื่อตอบสนองต่อสิ่งผิดปกติบางอย่าง ถ้าเกิดการอักเสบแบบนี้ ไม่ว่าจะกรณีเอาเข่าไปฟาดกับพื้นมาหรือว่ามีการอักเสบที่เหงือกและฟัน ซึ่งอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ก็ตาม
โดยทั่วไปแล้วการรักษาเราจะใช้ยาแก้อักเสบจริงๆ ซึ่งพวกนี้จะไปลดหรือไปยับยั้งปฏิกิริยาชีวเคมีที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดดังกล่าวแต่ในกรณีของยาฆ่าเชื้อ ยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะแล้วแต่จะเรียก ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้านจุลชีพ เพื่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ทำให้เราเจ็บป่วย โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นแบคทีเรีย หรือว่าบางทียาก็จะมีความสามารถไปฆ่ามันเลย
การที่เราเรียกยาแก้อักเสบกับยาปฏิชีวนะสลับไปมาบางทีก็ทำให้เกิดการใช้ยาผิดพลาดขึ้นได้ คราวนี้ลองมาดูเจ้ายาที่เรียกว่า “ยาต้านจุลชีพ” ฟังดูเรียกยากๆ เช่นนี้ มันทำงานอย่างไรถึงไปต้านจุลชีพได้ เป็นดังนี้ครับ หลายๆ ครั้งยาจะถูกออกแบบมาเพื่อไปทำลายอวัยวะที่สำคัญของแบคทีเรียหรือเชื่อโรคต่างๆ เช่น ไปทำลายที่ผนังเซลล์ ของเชื้อโรคซึ่งเป็นกำแพงสำคัญในการป้องกันเซลล์ให้มีชีวิตอยู่ ทำให้เกิดเป็นรูปร่างของเซลล์ขึ้นมา ถ้าหากเราไปทำลายกระบวนการสร้างกำแพงนี้ก็จะทำให้เชื้อแบคทีเรียไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
แบคทีเรียก็เหมือนคนเราครับ จะต้องมีการสังเคราะห์สิ่งต่างๆ มีการสร้างอวัยวะภายในเซลล์ของแบคทีเรียเอง มีการสังเคราะห์โปรตีน มีการแบ่งตัว ซึ่งยาจะไปออกฤทธิ์ยับยั้งขบวนการเหล่านี้ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี หยุดการเจริญเติบโตหรือเสียชีวิตในที่สุด ก็เป็นความหลากหลายในการออกแบบยาเพื่อที่จะมาทำลาย สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ เหล่านี้
คราวนี้ถ้าถามว่ายาต้านจุลชีพที่เราเจอกันส่วนใหญ่นั้นฆ่าเชื้ออะไร เรามักจะเจอเป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ส่วนยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยาที่ไปทำลายหรือยับยั้งเชื้อราปรสิตหรือโปรโตชัว เราอาจจะไม่ได้เจอบ่อยในชีวิตประจำวันของเราเท่ากับยาต้านเชื้อแบคทีเรีย
คราวนี้ลองมาดูว่าอะไรคือปัญหาของการใช้ยาต้านจุลชีพ ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ปัญหาแรกเลยคือปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจของผู้ป่วย ดังที่กล่าวไปแล้วว่ายาในกลุ่มนี้มีจุดประสงค์คือทำลายเจ้าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรค เพราะฉะนั้นถ้าเราทำลายไม่หมดยังคงเหลือเจ้าเชื้อโรคเพียงน้อยนิด มันอาจจะเกิดการสร้างประชากรเชื้อโรคใหม่ขึ้นมาทำให้เราเกิดการเจ็บป่วยซ้ำอีกได้ หรือ อาจจะทำให้เกิดการดื้อยา การรับประทานยาในกลุ่มนี้จึงต้องทำตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งคัด
โดยทั่วไปแล้ว การรับประทานยากลุ่มนี้ต้องรับประทานเป็นเวลา 3 วัน 5 วัน 7 วัน หรือเป็นเดือนแล้วแต่อาการของโรค แล้วแต่การติดเชื้อ แล้วแต่ประเภทของยา ยาบางชนิดรับประทานติดต่อกันเพียง 3 วัน ซึ่งยาถูกออกแบบมาแล้วว่าเมื่อรับประทาน 3 วัน ก็เพียงพอที่จะกำจัดเชื้อโรคได้ราบคาบ
แต่ยาบางชนิดต้องกินเป็นเดือนเป็นปี ยกตัวอย่างเช่น การกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดวัณโรค ยาในกลุ่มนี้รับประทานกันเป็น 6 เดือน 9 เดือน หรือบางทีเป็นปี เพราะด้วยความยากของการฆ่าเชื้อโรคพวกนี้จึงทำให้เราต้องใช้ยาเป็นเวลานาน ขอยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวมากกว่านี้อย่างเช่น เมื่อเราเป็นหวัดและมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งบางครั้งมีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย บางทีรับประทานยาไป 3 วันก็รู้สึกว่าดีขึ้นแล้ว แต่คุณหมอให้ยามาตั้ง 7 วัน การที่ให้คนไข้รับประทานยาต่อให้ครบ 7 วัน เนี่ยไม่ใช่เรื่องง่ายจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งรับประทานยาแล้วก็เหลือยาอยู่วันสองวัน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ผิดของการใช้ยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจส่งผลให้เกิดภาวะดื้อยาได้ว่าแต่ว่าดื้อยามันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ขอต่อวันพรุ้งนี้แล้วกันครับ
หอมหัวใหญ่มีประโยชน์ต่อหัวใจจริงหรือ
ผู้หญิงวัยทองควรกินหอมหัวใหญ่มากๆ เพราะเป็นผักที่มีป […]
ห้ามบด ห้ามหัก ห้ามเคี้ยว ห้ามกิน
ยาเม็ด (Tablets) และแคปซูล (Capsules) เป็นรูปแบบยาที […]
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นสำหรับเรื่องนี้.....