คราวนี้เดียวเราลองมายกตัวอย่างปัญหาที่คุ้นหู ยากลุ่มแรกเลยคือยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ชื่อว่า เตตราไซคลินและกลุ่มควิโนโลน เช่น นอร์ฟล็อกซาซิน (norflxacin) ไซโปรฟล็อกซาซิน (ciprofloxcin) ลีโวฟล็อกซาซิน (levofloxacin) ยากลุ่มนี้มีโอกาสที่จะไปจับกับแร่ธาตุโลหะซึ่งมีผลทำให้การรักษาลดลงโดยไปมีผลต่อการดูดซึม เพราะฉนั้นไม่ว่าโลหะที่มาจากยา ได้แก่ ยาลดกรดที่มีโลหะเป็นองค์ประกอบ
หรือว่าจะเป็นแคลเซียมเสริมที่เรารับประทานเป็นเม็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุเพื่อเสริมสร้างในเรื่องของกระดูก รวมทั้งอาหารบางอย่างที่มีแคลเซียมสูงซึ่งกรณีนี้ก็จะเข้าข่ายเรื่องของอาหารตีกับยา เช่น แคลเซียมในนม (เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องขออธิบายซ้ำๆ ให้ยืดยาวเพื่อความเข้าใจว่าสาเหตุมาจากอะไร) สาเหตุมาจากที่ว่าเจ้าแคลเซียมในนมที่เราต้องการและเป็นประโยชน์นี่แหละที่ไปทำปฏิกิริยากับยาบางชนิดทำให้ยาออกฤทธิ์ไม่ได้บางคนถามว่านมถั่วเหลืองได้ไหม? ก็ขอตอบว่าอะไรก็ตามนะครับที่มีแร่ธาตุแคลเซียมอยู่ ก็จะมีโอกาสจับยาเหล่านั้นได้ทั้งสิ้น
จริงๆ ไม่ใช่แค่นม ถ้าเรารับประทานไอศรีมรสร็อคกี้โรดหรือรัมลูกเกดจาก swensen’s ก็มีปัญหาเช่นกัน ฉะนั้นถ้าจะกินไอศรีมรสรัมลูกเกดยังไงก็ให้ห่างจากยา 2-3 ชั่วโมงนะครับ เพราะหากยาไปจับตัวกับพวกโลหะเหล่านี้หรือแคลเซียมก็ไม่สามารถทำให้ยาดูดซึมได้ ยาจึงออกฤทธิ์ไม่ได้ ร่างกายเราก็ไม่หายจากความผิดปกติหรือโรคดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีโรคติดเชื้อซึ่งเราต้องกำจัดแบคทีเรียตัวก่อโรค ปรากฏว่ายาก็ไม่สามารถทำงานได้ เชื้อก็เจริญเติบโตงอกงาม เราก็ยังคงไม่สบายเผลอๆ เชื้อดื้อยาอีก
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ยาในกลุ่มแมคโครไลด์ (macrolide) เช่น อีริโธมัยซิน (erythromycin) แคลริโธมัยซิน (clarithromycin) ยาพวกนี้ถ้ารับประทานร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาที่รักษาโรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หรือยาอะมิโอดาโรน (amiodarone) จะมีผลต่อระบบหัวใจได้หรือยาความดันบางประเภท เช่น ยาที่มีชื่อว่า ยาโพรโนลอล (propranolol) ซึ่งเป็นยาความดันที่ใช้กันเยอะในอดีต ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีใช้อยู่บ้าง
บางคนเป็นโรคความดันและเป็นเบาหวานร่วมด้วย การรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดบางประเภทอาจจะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้และเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำคนที่เป็นเบาหวานก็จะทราบว่า อ้าว! ถึงเวลาที่ต้องรับประทานอะไรเพิ่มแล้วรับประทานอาหาร ลูกอม หรือขนมเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ เขาจะรู้สึกเหมือนเวลาหิวนะครับจะมีอาการใจสั่น แต่เมื่อรับประทานยาโพรพราโนลอลก็อาจไปบดบังอาการใจสั่นซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่าร่างกายเราต้องการน้ำตาลอาจจะเป็นอันตรายได้
หรือว่ากรณีที่ผมจะเล่าต่อไปในเรื่องของ NSAIDs ยา NSAIDs นี่เป็นยาต้านอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งการใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs มากกว่าหนึ่งชนิดรวมกันไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อรักษา กลับมีโอกาสเสี่ยงต่ออาการไม่พึ่งประสงค์ หรือผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ใช้ยาสองชนิดในกลุ่มนี้ร่วมกัน
อีกประเด็นหนึ่งก็คือในกรณีที่เราได้ยาซ้ำซ้อนโดยที่เราไม่รู้ตัวผมยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเรารับประทานยาสูตรแก้ไข้หวัดที่เป็นยาสูตรผสม ในยานั้นมักจะมียารักษา 3 อาการ มียาพาราเซตามอลบรรเทาอาการปวดศีรษะและลดไข้ ยาชนิดที่สองคือยาลดน้ำมูกหรือยาแพ้ ชนิดที่สามคือยาบรรเทาอาการคัดจมูก จะเห็นว่ายาสามชนิดที่ประกอบกันเพื่อรักษาอาการความผิดปกติสามอย่าง
ในขณะเดียวกันถ้าเราไม่ทราบ ไม่อ่านชื่อสามัญทางยาว่ายาหนึ่งเม็ดนี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เราอาจจะใช้ยาอื่นเพิ่มไป เช่น เราใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อที่รักษาอาการลดไข้เพิ่มเข้าไปแต่จริงๆ แล้วในเม็ดมันมีพาราเซตามอลอยู่แล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดพิษจากพาราเซตามอลที่เกินได้
หรือในกรณีที่เราปวดขาปวดแข้งบวกกับเป็นหวัด ก็ใช้ยาแก้ไข้หวัดสูตรผสมที่มียาสามตัวร่วมกับยาบางตัวที่เป็นสูตรผสมที่มีออร์เฟนาดรีนซิเตรตกับพาราเซตามอลอยู่ในเม็ดเดียวกันเพื่อหวังว่าจะหายปวดขาและปวดเมื่อย พอกินยาทั้งสองชนิดนี้ด้วยกันปรากฏว่าเราได้รับยาพาราเซตามอลจากสองแหล่ง
อีกกรณีที่เราไปหาคุณหมอสองคน คุณหมอทั้งสองอาจจะให้ยามาเหมือนกันเลย ตัวยาเดียวกัน เพียงแต่ภายใต้ชื่อการค้าของยาคนละชื่อ ทำให้เราใช้ยาซ้ำไม่รู้ตัวและทำให้เกิดพิษมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังเช่นกัน
คราวนี้ผมลองยกตัวอย่างประเภทอาหารเสริมหรือวิตามินบ้าง จะได้เข้าใจว่า เอ๊ะ! ทำไมถึงเป็นอันตราย? สำหรับบุคคลที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่ต้องรับประทานยาตัวอย่างเช่น ยาวาร์ฟาริน (warfarin) เป็นยาที่เพิ่มฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด หากเราไปรับประทานวิตามินอีเป็นเวลานานก็อาจทำให้เป็นอันตรายได้ ถ้าแพทย์ไม่ทราบและไม่มีการปรับขนาดยาให้เหมาะสม
หรือในกรณีที่เรารับประทานโพแทสเซียมเสริมร่วมกับยาขับปัสสาวะบางกลุ่มที่เขาเรียกว่า potassium sparing diuretics (ขออนุญาตใช้เป็นภาษาอังกฤษ) เช่น ตัวยาสไปโนโรแลคโตน (spironolactone) ซึ่งถ้าใช้ทั้งสองอย่างนี้ร่วมกันก็จะทำให้มีผลต่อระบบกล้ามเนื้อและหัวใจโดยอาจจะเป็นอันตรายได้
คราวนี้เรามาดูกันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรได้บ้าง จริงๆ แล้วถ้าไปอ่านในบทของพาราเซตามอลเนี่ย เรื่องนี้ได้พูดไว้ระดับหนึ่ง ตัวอย่างหนึ่งที่อยากยกตัวอย่างให้เห็นกันนอกจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะมีผลทำให้เป็นพิษต่อตับเพิ่มขึ้นแล้ว ในกรณีที่เราดื่มแอลกอฮอล์กับยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง จะทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น รับประทานยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงร่วมกับแอลกอฮอล์ก็อาจจะเป็นอันตรายได้
ส่วนการสูบบุหรี่ แน่นอนเลยว่าการสูบบุหรี่มีผลต่อการรักษาด้วยยา เนื่องจากบุหรี่มีผลต่อการทำงานของตับที่มีหน้าที่เปลี่ยนแปลงและขจัดยา เพราะฉะนั้นเมื่อเราสูบบุหรี่เป็นเวลานานและเป็นประจำยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารับประทานยาตัวหนึ่ง เช่น ยาทีโอฟีลลีน (theophylline) บุหรี่จะมีผลเพิ่มเมตาบอลิซึมและเพิ่มการขจัดออกของยาทีโอฟีลลีน เพราะฉะนั้นบางครั้งอาจต้องมีการปรับขนาดของยาทีโอฟีลลีนให้มีการเพิ่มขึ้นหน่อยหนึ่ง หรือแล้วแต่แพทย์ผู้รักษา
แต่พอวันหนึ่งเกิดเราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เช่น ลดหรือหยุดสูบบุหรี่ ก็อาจจะทำให้ปริมาณทีโอฟีลลีนในร่าวกายผิดปกติปจากเดิม
ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ทั้งการเริ่มสูบบุหรี่หรือว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่มีผลต่อระดับยาในกระแสเลือดแล้ว การเปลี่ยนแปลงการสูบบุหรี่หรือหยุดสูบบุหรี่อย่างกะทันหันโดยที่ไม่ปรึกษาแพทย์ ก็อาจจะมีผลต่อยาบางตัวได้เช่นกัน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่อยากจะเตือนคือ การรับประทานยาคุมกำเนิดร่วมการสูบบุหรี่ เป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้มากทีเดียว เพราะฉะนั้นจะต้องเตือนคุณผู้หญิงนะครับ จริงๆ แล้งต้องคิดให้ลึกไปกว่านั้น คือเราอาจจะไม่ได้เป็นคนสูบบุหรี่เอง แต่เราใช้ชีวิตร่วมกับคนที่สูบบุหรี่ที่ถือว่าเป็น “นักสูบบุหรี่มือสอง” (Second-hand Smoker) สามีสูบ ภรรยาไม่เคยสูบ แต่ก็ถือว่าภรรยานั้นสูบบุหรี่ด้วยอย่างนี้ก็จะมีผลต่อการใช้ยาเช่นกัน
หลักการดูแลสุขภาพ
การดูแลสุขภาพโดยทั่วไปที่เรารู้จักกันดี ส่วนใหญ่ก็จะเป็ […]
ยาตีกัน ภาค 3
คราวนี้อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟังคือเรื่องของย […]
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นสำหรับเรื่องนี้.....